เปิดข้อมูล 800 บจ.หนี้ทะลุ 32 ล้านล้าน “โรงแรม-สายการบิน” ดิ้นเพิ่มทุน

เปิดข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 833 บริษัทตลาดหุ้นปี’64 “หนี้สิน” ทะลุ 32.17 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% “ttb analytics” เผยสัญญาณธุรกิจเริ่มล็อกต้นทุนออกหุ้นกู้รับดอกเบี้ยขาขึ้น-ขยายลงทุน ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้บริษัทใหญ่ฐานะแข็งแกร่งทำสถิติยอดขาย-กำไร โบรกฯมองธุรกิจท่องเที่ยว ลุ้นผ่านจุดต่ำสุด หลังจมปลักโควิด 2 ปีหลายโรงแรมดิ้นเพิ่มทุนฟื้นธุรกิจ จับตากลุ่ม “ปิโตรเคมี-อิเล็กทรอนิกส์” เจอแรงกดดันอัตราหนี้สินต่อทุนขยับเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังสามารถสร้างผลประกอบการที่ดี โดยมีกำไรสุทธิ 985,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) (ข้อมูลรวม 757 บริษัท จากทั้งหมด 780 บริษัท) ส่วน บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ mai มีกำไรสุทธิ 8,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 273.6%

หนี้บริษัทหุ้นไทยทะลุ 32 ล้านล้านบาท
ขณะที่หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนปี 2564 ประมาณ 833 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET+mai) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.99 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 10.25%

เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีหนี้สินรวม 29.17 ล้านล้านบาท โดยเป็น บจ.ใน SET จำนวน 651 บริษัท มีหนี้สินรวม 32.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 10.34% และ บจ.ใน mai จำนวน 182 บริษัท มีหนี้สินรวม 1.43 แสนล้านบาท ลดลง 9.4 พันล้านบาท หรือลดลงกว่า 6.16%

รายงานข่าวระบุว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้สินรวมของ บจ.ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมามีบริษัทใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 41 บริษัท จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมหนี้สินของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีหลายบริษัทใหญ่ที่ยังเดินหน้าขยายการลงทุน ทำให้มีการก่อหนี้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ บจ.ใน SET อยู่ที่ 2.66 เท่า ส่วน บจ.ใน mai อยู่ที่ 0.96 เท่า ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากปี 2563 เนื่องจากหลายบริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น และหลายบริษัทก็ดำเนินการเพิ่มทุน ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในภาพรวมปรับตัวลดลง

ttb ชี้โควิดดัน D/E ขยับ
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากย้อนไปดูช่วงก่อนโควิดจะพบว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุน

หรือ D/E ของ บจ.ขยับเพิ่มขึ้นเพราะบริษัทต่าง ๆ มีกระแสเงินสดไม่มากเหมือนช่วงก่อนโควิดจากรายรับที่ลดลง ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ลดลงมาก ขณะที่มีหนี้ครบกำหนดที่ต้อง roll over จึงเห็น D/E เพิ่มขึ้นที่เป็นเอฟเฟ็กต์จากโควิด

ขณะเดียวกัน ก็เห็นสัญญาณตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องมาปีนี้ ที่ภาคธุรกิจพยายามล็อกต้นทุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยกู้ตรงจากตลาดด้วยการออกหุ้นกู้แค่ 16% นอกนั้นจะเป็นการกู้ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น จากการที่สหรัฐมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยในทิศทางที่แรง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปีของไทยก็วิ่งขึ้นไปตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า ในปี 2564 มูลค่าการออกหุ้นกู้อยู่ที่ 1,034,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่ม investment grade และ high yield

ปี’65 ธุรกิจเหนื่อยต้นทุนพุ่ง
นายนริศกล่าวว่า เซ็กเตอร์ที่น่าห่วงขณะนี้ คือ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้น ทั้งเหล็ก น้ำมัน ปุ๋ย ฯลฯ แต่ยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่มีอำนาจในการปรับราคา รวมถึงธุรกิจที่ถูกควบคุมราคา

“ตอนนี้ธุรกิจกระทบแน่ ๆ เพราะต้นทุนปรับขึ้นเลย โดยวัตถุดิบที่สั่งมาสต๊อกได้ประมาณ 3-6 เดือน ตอนนี้อาจจะยังไม่รู้สึกมากนัก ยกเว้นเรื่องพลังงานที่ปรับขึ้นมานานแล้ว แต่ถ้าสต๊อกวัตถุดิบหมดขณะที่ราคาขายยังปรับไม่ได้ อันนี้จะกระทบมาร์จิ้นพอสมควร ในจังหวะที่ยังส่งผ่านต้นทุนไปไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับไป” นายนริศกล่าว

กลุ่มการเงินเร่งเพิ่มทุนกด D/E
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ถ้าดูข้อมูล 5 ปีย้อนหลังจะพบว่าภาพรวมหนี้สินต่อทุน (D/E) ทั้งตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่มากนัก โดยอัตราส่วนอยู่ที่ 2.5-2.8 เท่า ล่าสุดปี 2564 ระดับ D/E อยู่ที่ 2.66 เท่า ถือว่าใกล้เคียงกับระดับปี 2563

โดยกลุ่มการเงินมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากระดับ D/E ที่ 2.3 เท่าในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 1.9 เท่าในปี 2564 ถือเป็นการบันทึกต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี หลัก ๆ มาจากทิศทางการเพิ่มทุนที่หลายบริษัทออกวอร์แรนต์ (warrant) และออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อสร้างศักยภาพของตัวเอง

สำหรับอีก 3 กลุ่มที่ดูดีขึ้นเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการเปิดเมือง เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (reopening) ประกอบด้วย 1.กลุ่มคอมเมิร์ซ 2.ทรานสปอร์ต และ 3.สื่อสาร โดยปี 2564 ธุรกิจคอมเมิร์ซ D/E ลดลงเหลือ 1.57 เท่า จากปี 2563 อยู่ที่ 2.15 เท่า

ขณะที่ทรานสปอร์ตลดลงเหลือ 2.39 เท่า จาก 3.71 เท่า และสื่อสารลดลงเหลือ 3.74 เท่า จากระดับ 4.12 เท่า อนุมานได้ว่าเกี่ยวข้องกับทิศทางกำไรที่ดีปรับตัวขึ้น ล้อไปกับการคลายล็อกดาวน์และเปิดเมือง หลังจากปี 2563 ค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ปิโตรฯ-อิเล็กทรอนิกส์” หนี้พุ่ง
“กลุ่มที่มีหนี้สินปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มอินดัสเทรียล โดยเฉพาะปิโตรเคมีมีหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จากปี 2563 อยู่ที่ระดับ 1.1 เท่า สิ้นปี 2564 ขยับขึ้นเป็น 1.4 เท่า

โดยหนี้สินที่ปรับตัวขึ้นมาแรงหลัก ๆ คือ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ปี 2564 มีหนี้สิน 4.26 แสนล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปี 2563 ที่มีหนี้สินแค่ 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้ D/E เพิ่มเป็น 1.30 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 0.69 เท่า ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทมีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง”

เช่นเดียวกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นมาก จากปี 2563 อยู่ที่ 0.86 เท่า ขยับเป็น 1.06 เท่าในปี 2564 ซึ่งภาพจะคล้ายกับธุรกิจปิโตรฯโดยพบว่า 3 บริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้มีหนี้สินเพิ่มปรับตัวขึ้นมาทั้งหมด ผลกระทบหลักอาจมาจากซัพพลายชิปขาดแคลน ทำให้ความล่าช้าส่งมอบสินค้าส่งผลกระทบต่อความตึงของกระแสเงินสด จึงอาจต้องมีการกู้เงินเข้ามาโปะเพื่อบริหารเงินทุนหมุนเวียน

“ปีนี้ผลกระทบการล็อกดาวน์เมืองของจีน ทั้งเสิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นโกลบอลซัพพลายเชนของโลก ทำให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบต่อ” นายณัฐชาตกล่าว

โดย บจ.กลุ่มนี้ที่หนี้เพิ่ม ได้แก่ 1.บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) หนี้เพิ่มจาก 19,600 ล้านบาท เป็น 27,900 ล้านบาท ในปี 2564 ระดับ D/E จาก 0.52 เท่า เพิ่มเป็น 0.67 เท่า 2.บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) หนี้เพิ่มจาก 5,300 ล้านบาท เป็น 8,500 ล้านบาท D/E จาก 0.44 เท่า

เพิ่มเป็น 0.63 เท่า และ 3.บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) หนี้เพิ่มจาก 3,600 ล้านบาท เป็น 4,800 ล้านบาท และ D/E จาก 0.17 เท่า เพิ่มเป็น 0.21 เท่า

ธุรกิจโรงแรมดิ้นเพิ่มทุน
นายณัฐชาตกล่าวว่า สำหรับในปี 2565 คงต้องติดตามบริษัทต่าง ๆ ที่มีการระดมทุนออกหุ้นกู้ หรือมีรายจ่ายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างหนัก ซึ่งจะเพิ่มภาระหนี้สินของบริษัทที่มากขึ้น เป็นตัวที่ทำให้ D/E เหวี่ยงแรง

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ประเมินว่าคงไม่ต่างจากปีที่แล้ว คาดการณ์ GDP จะโตแถว ๆ 3% สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิดคงผ่านจุดแย่สุดไปแล้ว เพราะได้เห็นการเพิ่มทุนของหลาย ๆ ธุรกิจโรงแรม

ขณะที่นายธีระพล อุดมเวศย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า สิ้นปี 2564 กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้ทยอยเพิ่มทุนกันไปพอสมควรแล้ว

ทำให้ระดับหนี้สินต่อทุนลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างปลอดภัยกันเกือบหมด จากเดิมที่มีตัวเลขกระแสเงินสดติดลบ (cash burn) กลับมาเป็นบวกหลายแห่งจึงไม่ค่อยน่ากังวล

ส่วนปี 2565 ต้องลุ้นให้แต่ละบริษัทกลับมามีกำไร หรือทำให้กระแสเงินสดกลับมาเป็นบวกได้ โดยสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมากลุ่มโรงแรม D/E ลงมาอยู่ไม่เกิน 2 เท่า แต่อาจมีบางบริษัทที่ยังมีภาระหนี้สินสูง

อาทิ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) เนื่องจากโรงแรมของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ขณะที่บริษัทอื่นมีโรงแรมอยู่ในประเทศอื่น ๆ และมีธุรกิจประเภทอื่น เช่น ธุรกิจอาหาร เป็นต้น

นายธีระพลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มสายการบิน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ก็ได้เพิ่มทุนไปแล้ว แต่จะมี บมจ.บางกอกแอร์เวย์ส (BA) ที่น่ากังวลอยู่ โดยมีระดับ D/E อยู่ที่ 2.7 เท่า เนื่องจากบริษัทได้ไปซื้อสนามบินสมุยกลับมาจากกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) โดยใช้เงินกู้ส่งผลให้มีภาระหนี้สูง แต่ก็ไม่น่ากังวลมาก

ทียูโชว์ฐานะการเงินแข็งแกร่ง
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผยว่า แม้ว่าปี 2564 ยังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เป็นปีที่สองแล้ว แต่บริษัทยังสามารถสร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 141,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% และมีกำไรสุทธิถึง 8,013 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ยอดขายและกำไรที่เติบโต สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นค่อนข้างเข้มแข็งมาก ๆ โดยสามารถลดลงจากปี 2562 อยูที่ระดับ 1.07 เท่า ลงมาเหลือต่ำกว่า 1 เท่า และสิ่งที่เราค่อนข้างภูมิใจที่สามารถปันผลสูงสุดตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ค่อนข้างดี

“วันนี้ไทยยูเนี่ยนไม่ได้เน้นเรื่องการเติบโตยอดขายเป็นหลัก แต่เน้นเพิ่มความสามารถในการทำกำไร เป็นแนวทางที่ทำมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จากในอดีต gross profit margin อยู่ที่ 15% ในปี 2564 ขยับขึ้นสูงกว่า 18% และเป้าหมายคือผลักดันให้ถึง 20% ในปี 2568”

นายธีรพงศ์กล่าวด้วยว่า ปีนี้บริษัทตั้งงบฯลงทุนไว้ที่ 6,000 ล้านบาท เน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรสูงในรูปแบบการทำจอยต์เวนเจอร์ ธุรกิจใหม่ ซึ่งขนาดการลงทุนไม่ได้ใหญ่มาก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง สิ่งแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมุ่งเน้นการลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการใช้เครื่งอจักรอัตโนมัติ การพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance